วันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่รู้จักวันนี้ ประเทศอื่นก็ให้ความสำคัญกับวันนี้ไม่แพ้กันค่ะ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลกเลยทีเดียว พุทธศาสนิกชนควรเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของวันวิสาขบูชานี้ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง จะได้อิ่มบุญและช่วยกันสร้างกุศลในวันมหามงคลนี้ค่ะ

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา: เป็นวันที่พระพุทธเจ้า พระมหาบุรุษของโลกทรงประสูติ
วันนี้เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติบนโลกมนุษย์เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ก็คือ มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่เป็นบุคคลที่ตั้งความปรารถนาเพื่อที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสั่งสมบารมีมาเป็นเวลายาวนานหลายภพหลายชาติ พระโคดมพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันนี้ สร้างบารมีกันยาวนานที่สุด 80 อสงไขยกับแสนมหากัป เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ก็ได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงเกิดในวรรณะกษัตริย์ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และ “พระนางสิริมหามายา” ในคืนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระนางทรงพระสุบินนิมิตว่า มีช้างเผือกมีงาสามคู่ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม ก่อนที่พระนางจะมีพระประสูติกาล ที่ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน เมื่อวันศุกร์ ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนวิสาขะ ปีจอ 80 ปีก่อนพุทธศักราช ทันทีที่ประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว และมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาท พร้อมเปล่งพระวาจาว่า “เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีบุญญาธิการเป็นอย่างมาก

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา: เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่
วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจสี่ หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางไปสู่ความดับทุกข์ พระองค์ทรงตรัสรู้ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ที่ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันสถานที่นี้เรียกว่า “พุทธคยา” ประเทศอินเดีย

ก่อนหน้าที่พระองค์จะทรงตรัสรู้นั้น ได้บำเพ็ญทุกรกิริยาโดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา 6 ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า ทางสายกลางเป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้ หลังจากที่นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสมาถวาย ทรงประทับ ณ ใต้ต้นโพธิ์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า “แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ถ้ายังไม่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด” จากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างยิ่งยวด พระองค์ทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีระกา

การตรัสรู้ในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อชาวโลก ที่ทำให้เราเข้าใจทุกข์และมีคุณธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจได้มาจนทุกวันนี้

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา: เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ ณ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ รวมพระชนม์ 80 พรรษา พระองค์ทรงได้แสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง 45 ปี มีพระพุทธดำรัสว่า “ธรรมและวินัยอันที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”

ในวันนี้พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนัก แต่ทรงอดกลั้นมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา โดยก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้อุปสมบทให้แก่ พระสุภัททะปริพาชก ซึ่งถือได้ว่า “พระสุภัททะ” คือ สาวกองค์สุดท้ายที่พระองค์ทรงบวชให้ ท่ามกลางคณะสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์ และปุถุชนจากแคว้นต่างๆ รวมทั้งเทวดา ที่มารวมตัวกันในวันนี้ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธที่พระองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน คือการดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป

เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” แม้วาระสุดท้ายของพระองค์ก็ยังคงมีเมตตาและประทานปัจฉิมโอวาทซึ่งเป็นคำสอนเตือนใจชาวพุทธเพื่อให้เข้าใจความจริงอันประเสริฐอย่างแท้จริง

การปฏิบัติตัวในวันวิสาขบูชา
นอกจากพุทธศาสนิกชนจะไปวัด ทำบุญ และเวียนเทียนแล้ว ควรการน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย และศึกษาอริยสัจสี่ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เข้าใจทุกข์ สาเหตุของทุกข์ การดับทุกข์ เพื่อมุ่งไปสู่หาทางแห่งการดับทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ เพียงแค่เข้าใจและปฏิบัติตามหลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้แสดงไว้ เราก็จะสามารถคลายทุกข์และดับกิเลสได้มากขึ้นค่ะ

อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here