คุณเคยมีอาการเหล่านี้ไหมคะ ท้องเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ จามฟุดฟิด น้ำมูกไหล ไอเรื้อรัง แต่ไม่ได้เป็นหวัด อาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทานยาแล้วหายไป แต่ไม่นานก็กลับมามีอาการเหล่านี้อีก แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้อาจเกิดจากสิ่งของในบ้านของคุณที่สะสมเชื้อโรคเอาไว้ ลองมองรอบตัว แล้วตรวจสอบว่าคุณทำความสะอาดสิ่งของเหล่านี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

1.แปรงสีฟัน
กิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้ของทุกคนไม่ว่าเราจะป่วยแสนสาหัส หรือ สุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็คือการแปรงฟัน ส่วนที่เป็นลิ้น ปากและฟันของเราจึงสัมผัสแปรงสีฟันทุกวัน ถ้าแปรงสีฟันเราไม่สะอาด เรามีโอกาสป่วยได้ทุกวันเช่นกัน เศษอาหารที่ตกค้างอยู่บนแปรงสีฟันเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรคต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณแปรงฟันเสร็จแล้ว ก่อนจะเก็บแปรงสีฟัน คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีเศษอาหารใด ๆ ติดค้างบนแปรง ถ้ามีควรเขี่ยออกให้หมดเสียก่อน นอกจากนี้ควรผึ่งแปรงสีฟันให้แห้งเสมอ อีกทั้งไม่ใช้แปรงสีฟันร่วมกับคนอื่น ๆ แม้ว่าเราสนิทมากแค่ไหนก็ตาม เพราะเราไม่รู้ว่าคนนั้นป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจไม่รู้หรืออาจมองข้ามไปคือ แปรงสีฟันควรเก็บให้ห่างจากโถส้วม เพราะเมื่อเรากดชักโครก อาจจะมีละอองของเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในชักโครกลอยมาที่แปรงสีฟันของเรา เมื่อเรานำแปรงมาใช้ แบคทีเรียนั่นจะเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ค่ะ

2.ฟองน้ำล้างจาน
เมื่อเดินเข้าไปในครัว สิ่งที่พบเห็นได้ในทุกบ้านคือ ฟองน้ำล้างจาน ถ้าถามว่าเปลี่ยนฟองน้ำล้างจานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ หลายคนน่าจะใช้เวลาครุ่นคิดอยู่หลายนาที คุณก็เช่นกันใช่ไหมคะ ? การใช้ฟองน้ำล้างจานทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกมา ทำให้จานสะอาดน่าใช้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าหลังจากล้างจานสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์ ผัก ได้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่ฟองน้ำแทนก็เพราะว่าฟองน้ำเปียกชื้นตลอดเวลา อีกทั้งมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่เป็นอาหารอันโอชะของเชื้อโรค เช่น ซาลโมเนลลา (salmonella) ซึ่งพบได้ในเนื้อสัตว์ดิบ เชื้อโรคชนิดนี้ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงได้ หลังล้างจานทุกครั้ง ควรล้างฟองน้ำให้สะอาด และนำฟองน้ำมาผึ่งแดด หรือทำให้ฟองน้ำให้แห้งไว้ นอกจากนี้ควรแยกฟองน้ำสำหรับล้างสิ่งต่าง ๆ เช่น ฟองน้ำล้างจานควรใช้คนละอันกับฟองน้ำล้างแก้ว หรือล้างหม้อ และถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนฟองน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้งนะคะ

3.เขียง
ถ้าเดินเข้ามาในครัว นอกจากฟองน้ำล้างจานแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกสิ่งหนึ่งสำหรับครัวไทยคือ เขียง เขียงใช้ประกอบอาหาร และสัมผัสกับอาหารทั้งสุกและดิบ หากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี มีโอกาสปนเปื้อนและเป็นบ้านหลังใหม่ของเชื้อโรค ทั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราเลยทีเดียว เมื่อใช้เขียงเสร็จ ควรล้างเขียงให้สะอาด โดยใช้น้ำยาล้างจาน น้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูทาบนเขียง แล้วนำไปตากให้แห้ง นอกจากนี้ เมื่อใดก็ตามที่พบว่าเขียงมีรอยแยก หรือรอยแตกก็ให้เปลี่ยนเขียงทันที อย่านำมาใช้อีก เพราะเศษเนื้อสัตว์อาจลงไปติดและกลายเป็นอาหารของเชื้อโรคได้ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึง คือ การแยกเขียงสำหรับอาหารดิบกับอาหารสุก เขียงสำหรับอาหารดิบ ใช้หั่นเนื้อสัตว์ดิบ ส่วนเขียงสำหรับอาหารสุกใช้หั่นผักผลไม้ที่สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องทำให้สุก ถ้าเอาเขียงอาหารดิบมาใช้หั่นอาหารสุก เช่น เอาผักหรือผลไม้มาหั่นต่อจากเนื้อไก่ดิบ คุณอาจได้รับเชื้อซาลโมเนลลาจากไก่ดิบ ไปพร้อมกับการรับประทานผักผลไม้นั้นด้วย และไม่ต้องแปลกใจเลยที่คุณจะท้องเสียหลังจากนั้นค่ะ

4.รีโมททีวี
ทีวีเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีทุกบ้าน และรีโมททีวีเป็นสิ่งที่ทุกคนในบ้านจะต้องสัมผัสอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง การได้นั่งดูทีวี กุมรีโมททีวี รวมทั้งกินขนมขบเคี้ยวไปด้วย ช่างเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของใครหลาย ๆ คน แต่หารู้ไม่ว่าเศษขนมแสนอร่อยเมื่อตกอยู่ตามซอกของปุ่มรีโมท จะก่อให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรคปนอยู่กับฝุ่นละออง เมื่อคุณกดรีโมทแล้วเอามือข้างเดียวกันนั้นไปหยิบจับอาหาร คุณก็จะกินเชื้อโรคเข้าไปด้วย นอกจากนี้แต่ละวัน สมาชิกในครอบครัวจะต้องหมุนเวียนกันมาจับรีโมท แต่จะมีกี่คนที่ล้างมือก่อนมาจับรีโมท เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจเลยว่าเชื้อโรคจะซุกตัวอยู่บน และเมื่อร่างกายของคุณอ่อนแอ อาการป่วย เช่น หวัด หรือ ภูมิแพ้จากเชื้อโรคเหล่านั้น ก็จะปรากฏขึ้น สิ่งที่ควรทำทุกวันคือ ใช้สำลีชุบแอลกฮอล์เช็ดรีโมททีวีทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังใช้รีโมท

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื้อโรคอยู่ใกล้ตัวเรามากเลยนะคะ เริ่มทำความสะอาดสิ่งของใกล้ตัวกันเลยดีไหมคะ อย่ารอให้ป่วยก่อนแล้วจึงเริ่มทำ บ้านที่เรียบร้อยและสะอาดสะอ้านจะเป็นส่วนช่วยให้คนในบ้านมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้นค่ะ

อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here